ห้องสูบบุหรี่ "สนามบิน" ค่าฝุ่นพิษสูงมาก ศจย.ร่อน จม.ขอบคุณ ทอท.ลุย 6 ท่าอากาศยานเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด

ห้องสูบบุหรี่ "สนามบิน" ค่าฝุ่นพิษสูงมาก ศจย.ร่อน จม.ขอบคุณ ทอท.ลุย 6 ท่าอากาศยานเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 11868

ห้องสูบบุหรี่ "สนามบิน" ค่าฝุ่นพิษสูงมาก ศจย.ร่อน จม.ขอบคุณ ทอท.ลุย 6 ท่าอากาศยานเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด | ศจย. ร่อนจดหมายชื่นชม ทอท. ลุย 6 ท่าอากาศยานในไทยเป็นปลอดบุหรี่ทั้งหมด ชี้ ช่วยลดความเสี่ยงควันและฝุ่นพิษจากบุหรี่ลงได้ เผยปี 56 ห้องสูบบุหรี่ในสนามบินมีฝุ่น PM 2.5 สูง 773 มคก./ลบ.ม.

จากกรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ท่าอากาศยาน สามารถจัดพื้นที่สูบบุหรี่ได้ แต่ต้องเป็นด้านนอกอาคาร และไม่ใช่สถานที่โล่งแจ้ง ทำให้ต้องยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในตัวอาคารทั้งหมด

วันนี้ (3 เม.ย.) ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากรายงานผลการวิจัยการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ในห้องสูบบุหรี่ที่สนามบิน ปี 2555 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา พบว่า สนามบินที่ยังไม่ประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 188.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งสูงเป็น 23 เท่าของค่าเฉลี่ยที่วัดได้ในสนามบินปลอดบุหรี่ และบริเวณนอกห้องสูบบุหรี่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 43.7 มคก./ลบ.ม. และสูงเป็น 5 เท่าของค่าเฉลี่ยที่วัดได้ในสนามบินปลอดบุหรี่ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไม่สามารถป้องการกระจายของควันพิษจากบุหรี่ได้ โดยสอดคล้องกับข้อสรุปของสมาคมวิศวกรรมการปรับอากาศของสหรัฐอเมริกา ที่เสนอว่า วิธีการเดียวที่จะจำกัดความเสี่ยงต่อควันบุหรี่มือสองได้ดีที่สุดคือการห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศจย.ได้มีรายงานการศึกษาวัดควันบุหรี่มือสองที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2556 พบว่า ห้องสูบบุหรี่มีฝุ่นพิษ PM 2.5 ปริมาณ 773.4 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า ในขณะที่องค์การอนามัยโลกเสนอว่า ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ใน 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม. ดังนั้น การที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการเรื่องเขตปลอดบุหรี่ในท่าอากาศยานไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบควันบุหรี่มือสอง ซึ่งส่งผลดีต่อประชาชนในประเทศไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทย

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ล่าสุด ตนได้มีจดหมายในนามของ ศจย.ส่งไปยัง ทอท.เพื่อแสดงความชื่นชม ที่ได้ดำเนินการให้ท่าอากาศยาน 6 แห่งในประเทศไทย เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ประกอบไปด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยเป็นการปฏิบัติมาตรการปกป้องบุคคลจากการสูดดมควันยาสูบ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากควันบุหรี่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

เผยแพร่: 3 เม.ย. 2562 15:09 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
Credit : https://mgronline.com/qol/detail/9620000033063

พิมพ์