อันตราย ! ควันบุหรี่สมุนไพร มีสารพิษก่อมะเร็ง

อันตราย ! ควันบุหรี่สมุนไพร มีสารพิษก่อมะเร็ง

อ.ดร.สุภา วิตตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานวิชาการของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า สมุนไพรถ้าใช้ให้ถูกวิธีถูกกับโรค จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าใช้ผิดวิธีก็ก่อให้เกิดโทษได้ ‘บุหรี่สมุนไพร’ หรือการนำสมุนไพรมาสูบ เพื่อทดแทนการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม ไม่ได้ช่วยเลิกการสูบแต่อย่างใด

แถมเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย โดยบุหรี่สมุนไพรมีการผลิตขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2502 ในประเทศจีน ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากควันบุหรี่สมุนไพร พบว่าบุหรี่สมุนไพรที่ไม่มียาสูบหรือนิโคตินยังคงผลิตสารพิษรวมทั้งสารก่อมะเร็งได้ “ทั้งนี้ในปีพ.ศ.2552 ประเทศจีนได้มีความพยายามทดสอบข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศว่าบุหรี่สมุนไพรมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปหรือไม่ ซึ่งผลวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะที่ได้รับจากผู้สูบบุหรี่สมุนไพร 135 คน และผู้สูบบุหรี่ทั่วไป 143 คน พบว่าบุหรี่สมุนไพรไม่ได้ให้สารก่อมะเร็งน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ในปีพ.ศ.2553 มีการศึกษาการตอบสนองความเสียหายของดีเอ็นเอที่เกิดจากควันของบุหรี่สมุนไพรในการสัมผัสเซลล์ปอดของมนุษย์ พบว่าการสัมผัสนี้นำไปสู่การก่อตัวของดีเอ็นเอสองเส้นที่แตกออกซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งได้ ในปีพ.ศ.2556 มีรายงานว่า การสูบบุหรี่สมุนไพรทำให้ผู้สูบได้รับสารพิษของโลหะหนักเช่นเดียวกับที่พบในบุหรี่ทั่วไป และในปีพ.ศ.2558 มีการประเมินความปลอดภัยของควันบุหรี่จากบุหรี่สมุนไพรเมื่อเทียบกับบุหรี่ยาสูบทั่วไป พบว่าควันบุหรี่สมุนไพรมีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ ในปริมาณมากคล้ายกับบุหรี่ทั่วไป รวมทั้งผลการวิเคราะห์บุหรี่สมุนไพรที่ผลิตในฝรั่งเศสและจำหน่ายในออสเตรีย พบว่ามีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์สูงพอๆ กับบุหรี่ทั่วไป โดยการเผาไหม้ของบุหรี่สมุนไพรก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งและสารเคมีที่เป็นพิษอื่นๆ เช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไป หรือแม้แต่ในฟิลิปปินส์ที่ทำการตลาดบุหรี่สมุนไพร โดยอ้างว่าไม่มีนิโคตินและไม่มีน้ำมันดิน แต่เมื่อตรวจสอบยังคงพบน้ำมันดินและคาร์บอนมอนอกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ” อ.ดร.สุภา กล่าว อ.ดร.สุภา ชี้ว่า ทุกผลการศึกษาวิจัยได้ยืนยันว่า ควันบุหรี่สมุนไพรมีพิษไม่ต่างกับบุหรี่ทั่วไป และการสูบบุหรี่สมุนไพรไม่ได้ช่วยในการรักษาหรือลดความรุนแรงของการเกิดโรคต่างๆ แต่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และคาร์ซิโนเจน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบได้ในควันบุหรี่ทุกประเภท

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Press Release:
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์