นักวิชาการชี้ “สูบบุหรี่มวนเดียวกัน เสี่ยงติดโควิด-19” “ก้นกรองบุหรี่ ไม่ช่วยลดอันตราย”

นักวิชาการชี้ “สูบบุหรี่มวนเดียวกัน เสี่ยงติดโควิด-19” “ก้นกรองบุหรี่ ไม่ช่วยลดอันตราย”

สูบบุหรี่มวนเดียวกัน เสี่ยงติดโควิด-19 : รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและวิชาการประจำภาคกลาง ของ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ณ วันที่ 16 ม.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 94.5 ล้านคน

กว่า 200 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน จำนวน 11,680 คน ซึ่งพบว่าช่องทางหนึ่งของการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวมาจากน้ำมูก น้ำลาย การไอ และจาม ทั้งนี้พบไทม์ไลน์ของหนุ่มฉะเชิงเทรา อายุ 22 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้สังสรรค์กับเพื่อนๆ โดยสูบบุหรี่มวนเดียวกัน เวียนกัน 20 คน ซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยความเสี่ยงอยู่ที่การสัมผัสร่วมกันบริเวณที่เป็นก้นกรองของบุหรี่ที่สัมผัสกับริมฝีปาก

“ซึ่งก้นกรองของบุหรี่นั้น ปลายมวนบุหรี่ในส่วนที่คีบอุณหภูมิไม่สูงพอที่จะทำลายเชื้อโควิด-19 ได้ และก้นกรองของบุหรี่ก็ก่อให้เกิดสารพิษต่อสุขภาพด้วย เนื่องจากก้นกรองบุหรี่จะกรองสารต่าง ๆ ที่ผ่านการเผาไหม้ให้มีขนาดเล็กลงเป็นละอองสารเคมีขนาดระหว่าง 0.1-1.0 ไมโครเมตร อีกทั้งส่วนที่เป็นก๊าซ คือไนโตรเจน ร้อยละ 50-70, คาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10-15 และคาร์บอนมอนอกไซด์ ร้อยละ 3-6 รวมทั้งออกซิเจน ร้อยละ 10-15 ทำให้เข้าสู่ถุงลมปอดส่วนปลายได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยความร้อนของปลายมวนบุหรี่ขณะที่สูดควัน 900 องศาเซลเซียส และไม่มีการสูดควันคือ 600 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนระดับนี้เป็นเหตุที่ทำให้เกิดสารพิษต่างๆ มากมายจากการเผาไหม้ ทั้งในควันที่สูบเข้าไปและควันที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนมาก ก็จะจับตัวกับออกซิเจน กลายเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้หากในระหว่างที่มีการเวียนสูบบุหรี่ การไอ จามในกลุ่มระหว่างนี้ก็จะทำให้เชื้อโควิด-19 สามารถฟุ้งกระจายผสมไปกับอนุภาคของควันบุหรี่ในอากาศ และทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสได้รับเชื้อ จากการที่ไม่ใส่แมสในระหว่างที่มีการเวียนสูบ ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการติดโรคอื่นๆจากทางน้ำลายอื่นๆด้วย เช่น คอตีบ เริม ไอกรน คางทูม หัดเยอรมัน และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และไวรัสตับอักเสบ A และ E อีกด้วย” รศ.ดร.สสิธร กล่าว

รศ.ดร.สสิธร ชี้ว่า ก้นกรองบุหรี่ไม่ได้ช่วยกรองสารพิษของบุหรี่ได้ และเมื่อสูบบุหรี่มวนเดียวกันยังทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออื่นๆ รวมถึงโควิด-19 ด้วย ดังนั้นขอให้ประชาชนเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพ

หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. 061-7244411


พิมพ์