"ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ปลอดภัย กระทบสุขภาพชัด

"ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ปลอดภัย กระทบสุขภาพชัด

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง ‘รายงานส่วนประกอบไอระเหยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์และผลกระทบต่อสุขภาพ ปีพ.ศ.2563’ ว่า นับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ‘บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือ บุหรี่ไฟฟ้า’ เมื่อถูกกลุ่มผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำเสนอว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีควันจากการเผาไหม้จึงปลอดภัยกว่าบุหรี่ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า

บุหรี่ไฟฟ้ามีของเหลวที่มีส่วนผสมของนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เมื่อมีความร้อนจะทำให้ของเหลวกลายเป็นไอระเหย ซึ่งส่วนประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1) ‘โพรไพลิน ไกลคอล’ เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนที่ทำให้เกิด ‘ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้า’ เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดเลือดออกในโพรงจมูกได้ และเกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจตอนบน เมื่อใช้ในปริมาณที่มากและเป็นเวลานานจะเกิดอาการเป็นพิษทั้งระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีอาการชัก 2) ‘นิโคติน’ เป็นสารเสพติดที่มีอานุภาพการเสพติดสูง เมื่อมีการสูดไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปนิโคตินจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือดและสมองภายใน 10 วินาที และผู้เสพบุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ ซึ่งนอกจากการเสพติด นิโคตินยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง และ 3) ‘สารปรุงรส’ เพื่อแต่งรสชาติ มีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งอยู่ในของเหลวของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้สูบมีความพึงพอใจในรสชาติสำหรับผู้ที่สูบเป็นครั้งแรกโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น “ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลกระทบสุขภาพต่อระบบทางเดินหายใจและปอด โดยรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2562 มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุของโรคปอด โดยพบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง หรือ อิวาลี่ (EVALI) ซึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 ประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าป่วยปอดอักเสบรุนแรง 2,668 ราย และตายถึง 60 ราย รวมถึงมีรายงานการป่วยและตายในอีกหลายประเทศ ทั้งนี้สรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่กลุ่มผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพยายามโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นประเทศไทยจึงควรห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทต่อไป” ศ.นพ.รณชัย กล่าว

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Press Release:
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2563 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์