ภาษียาสูบของไทย เครื่องมือนโยบายหรือตลกร้ายที่หลายคนไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้ ?

ภาษียาสูบของไทย เครื่องมือนโยบายหรือตลกร้ายที่หลายคนไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้ ?

จากข่าวที่มีการผลักดันให้ขึ้นภาษียาสูบและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบรวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบออกมาคัดค้านนั้นเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจได้ถึงความเดือดร้อน และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2550 – 2551

กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมองให้ถ่องแท้ มิฉะนั้นจะทำให้ตัวปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข แพทย์หญิง Gro Harlem Brundtland อดีตนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์และอดีตผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่ายาสูบเป็นมหันตภัยทางสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ กฎหมายควบคุมยาสูบโลกชี้แนะให้ใช้มาตรการภาษีเพื่อให้ยาสูบมีราคาสูงขึ้น สำหรับ ยสท. ที่ผ่านมาก็มีการปรับขึ้นราคาบุหรี่ การปรับขึ้นภาษีขึ้นราคาทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ส่งผลให้กิจการตกต่ำแบบที่เป็นอยู่ ปัญหาที่แท้จริงมันเกิดจากอะไร ก็ต้องไปจัดการแก้ไชที่ตรงนั้น WHO เรียกร้องผู้นำทุกประเทศให้เห็นความสำคัญของภาษียาสูบเพราะจะช่วยลดการสูบบุหรี่ ภาษียาสูบไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาเพียงลำพัง ขอให้ผู้นำประเทศโปรดพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาก็คือการที่กระทรวงการคลังใช้มาตรการภาษีแบบตรงข้ามกับที่ WHO ชี้แนะ กฎหมายควบคุมยาสูบโลกชี้แนะให้ใช้ภาษีช่วยทำให้ยาสูบราคาสูงขึ้นก็เพื่อลดความสูญเสียของสังคมโดยรวม แต่กระทรวงการคลังกลับใช้ภาษีปล่อยให้บุหรี่มีราคาลดลง ดังจะเห็นว่าตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมาบุหรี่ต่างชาติหลายยี่ห้อมีราคาถูกลงมาก บางยี่ห้อราคาลดลงถึงซองละ 38 บาท เสียภาษีลดลงถึงซองละ 20 บาท จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ฟิลลิปมอร์ริสมีปริมาณส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.1 ในปี 2561 และเพิ่มอีกร้อยละ 18 ในปี 2562 กฎหมายภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 นั้นเป็นการปรับโครงสร้างภาษี สำหรับสินค้าอันตรายแล้ว ไม่ว่าจะสินค้าใดก็ตาม จะปรับอย่างไรก็ต้องควบคุมไม่ให้ราคามันลดลง ที่ผ่านมาสองปีกว่าเราเสีย “ค่าโง่”. ไปเท่าไรแล้วกับการปล่อยให้บุหรี่ลดราคา เด็กก็สูบมากขึ้น การนำเข้าก็พุ่งพรวด ต้องไปแก้กันตรงนั้นก่อน หากไม่แก้ก็จะกลายเป็นค่าโง่แบบไม่รู้จบ

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นว่ากฎหมายควบคุมยาสูบโลกระบุชัดว่าในการกำหนดนโยบายภาษียาสูบนั้น แต่ละประเทศควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของชาติด้านสุขภาพเป็นสำคัญ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่ายาสูบเป็นสินค้าที่ต้องควบคุม ดังนั้นนโยบายหรือมาตรการภาษีที่ใช้อยู่ก็ต้องควบคุมไม่ให้ราคามันลดลง ปัญหาเรื่องภาษีและราคายาสูบที่เกิดขึ้นนั้นทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ต้องร่วมพิจารณาด้วยว่าควรจัดการอย่างไรให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของกฎหมายควบคุมยาสูบโลกเพื่อประโยชน์สังคมโดยรวม

สำหรับบรรณาธิการ: ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ โทร. 02-651 9411, 081 665 3011 สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ข่าวสำหรับสื่อมวลชน (11 มีนาคม พ.ศ.2563)
อาคารเดอะรอยัลเพลส 1 ชั้น 11 ห้อง 2/64 เลขที่ 2-2/399 ซอยมหาดเล็กหลวง 1 ถนนราชดำริ กทม. 10330 โทรศัพท์ 02-651 9411 Email address: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์