เลื่อน! ขึ้นภาษียาสูบ รัฐช้ำ! เสียรายได้ 4,000 ล้านบาท

เลื่อน! ขึ้นภาษียาสูบ รัฐช้ำ! เสียรายได้ 4,000 ล้านบาท

ศจย. Press release ฮิต: 394

นักวิชาการเผย ปีที่ผ่านมา เลื่อนไม่ปรับภาษียาสูบเพิ่มขึ้น ทำรัฐสูญเสียรายได้จากภาษียาสูบเกือบ 4,000 ล้านบาท แนะเพิ่มภาษียาสูบให้ราคายาสูบสูงขึ้น จะลดการบริโภคยาสูบลง และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ชี้ปีนี้กรมสรรพสามิตห้ามเลื่อนปรับอัตราภาษียาสูบอีก

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ โรงแรมเอเชีย ศจย. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ได้จัด ‘การประชุมแนวทางนโยบายภาษียาสูบต่อการควบคุมยาสูบสำหรับประเทศไทย’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และภาษี เข้าร่วมประชุมเพื่อหาข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดเก็บภาษียาสูบที่เหมาะสม โดยมีข้อสรุป ดังนี้ ประเทศไทย ‘ยาสูบ’ เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมไม่ใช่ส่งเสริมการแข่งขันเสรี เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันหลักการนี้ในคำวินิจฉัยที่ 9/2562 ทั้งนี้ข้อดีของการขึ้นภาษียาสูบจะส่งผลให้ผู้ที่สูบยาสูบเลิกสูบ ลดปริมาณการใช้ยาสูบในกลุ่มผู้ที่ยังสูบอยู่ และป้องกันการเข้าถึงของนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งผลการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า การเพิ่มภาษียาสูบให้ราคายาสูบสูงขึ้น 10% จะลดการบริโภคยาสูบลงถึง 4% ในประเทศที่มีรายได้สูง และลดลง 8% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
“ทั้งนี้ประเทศไทยเกิดผลกระทบจากการไม่ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมต้องมีการปรับอัตราในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 แต่ถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 จึงทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบเกือบ 4,000 ล้านบาท และจากภาษีอื่นๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมหาดไทย ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ รวมกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นในปีนี้ กรมสรรพสามิต ต้องเพิ่มภาษียาสูบให้ราคายาสูบสูงขึ้น ห้ามเลื่อนการปรับอัตราภาษีบุหรี่อีก โดยวิธีการเก็บภาษีต้องยกเลิกระบบภาษี 2 อัตรา ให้ใช้ภาษีอัตราเดียวจัดเก็บตามมูลค่าคือ ร้อยละ 40 และที่สำคัญต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการลดราคาบุหรี่เพื่อส่งเสริมการขาย ขณะที่เมื่อราคาบุหรี่สูงขึ้นผู้บริโภคอาจหันไปซื้อ ‘ยาเส้น’ ที่ถูกกว่าแทน ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องปรับอัตราภาษียาเส้นให้ใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่มากที่สุด ตามหลักสากลที่ว่า สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในลักษณะเดียวกันต้องเก็บภาษีเท่ากัน เพื่อลดการบริโภคสินค้าทดแทนที่เสียภาษีถูกกว่าหรือไม่เสียภาษี” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่มีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ มักมีข้อกล่าวอ้างถึงประเด็นการลักลอบบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มสูงขึ้น ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาระบบ Track and Trace คือ ระบบการตรวจสอบพัสดุว่าอยู่ที่ใดในกระบวนการจัดส่ง โดยสมควรให้อุตสาหกรรมยาสูบรับต้นทุนเป็นผู้ดำเนินการเพื่อลดภาระด้านต้นทุนของระบบ และให้หน่วยงานของรัฐสามารถตรวจสอบติดตามได้ นอกจากนี้กรมสรรพสามิตควรพิจารณาเรื่อง การเข้าร่วมพิธีสารขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลกด้วย ..ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. 061-7244411 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์