บุหรี่ไฟฟ้าทำป่วยตาย ยังทำลายสิ่งแวดล้อมซ้ำ

บุหรี่ไฟฟ้าทำป่วยตาย ยังทำลายสิ่งแวดล้อมซ้ำ

ศจย. Press release ฮิต: 1222

บุหรี่ไฟฟ้าทำป่วยตาย ยังทำลายสิ่งแวดล้อมซ้ำ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะทำงานศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง กรณีคนตายจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ตาย 26 คน ใน 21 รัฐ และป่วยโรคปอด 1,299 ราย ใน 49 รัฐ

ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ต.ค. 2562) ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากรายงานอันตรายจากขยะที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสำรวจการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ปี 2561-2562 โดยกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยม 18,831 คน ในโรงเรียนมัธยม 12 แห่ง ซึ่งผลการศึกษาพบของเสียจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า มีพลาสติก นิโคติน และโลหะหนัก ตลอดจนสารพิษอื่นๆในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นอันตรายปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดของเยาวชนในสหรัฐทำให้เกิดขยะทำลายสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว
ถ้าไม่มีการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ในปี 2564 คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึงประมาณ 55 ล้านคน และจะมีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้านับล้านที่จะถูกกำจัดอย่างไม่เหมาะสม (กลุ่มวิจัย Euromonito) ทั้งนี้กล่าวได้ว่า ‘การสูบบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะได้รับการประกาศว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ร้ายแรง ยังสร้างภัยพิบัติครั้งใหญ่ในการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย’ โดยในปี 2560 สหรัฐมีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า 565 ประเภทในตลาด และมี 184 ชนิดที่ใช้แล้วหมดหรือใช้ครั้งเดียว ซึ่งเมื่อทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถานการณ์การระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐ ปี 2558 – 2559 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเกิดระเบิดประมาณ 2,035 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บต้องเข้าฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา สหภาพแอร์โฮสเตสของสหรัฐ ได้เรียกร้องไปยัง สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ไม่ให้มีการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นเครื่องบิน เพราะเสี่ยงต่อการระเบิดบนเครื่องบิน” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว

รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ‘ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่อง สุขภาพเท่านั้น ยังสร้างปัญหาให้เกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดีใจที่ประเทศไทยยังคงมาตรการห้ามนำเข้า ซึ่งถือเป็นมาตรการที่นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของคนไทยแล้ว ยังคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอีกด้วย’

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2562 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)
(รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า คณะทำงาน ศจย.)
รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์