หนุนไทยคงห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ล่าสุดอินเดียประกาศห้ามด้วย

หนุนไทยคงห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ล่าสุดอินเดียประกาศห้ามด้วย

นักวิชาการ ‘หนุนไทยคงมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า’ เผยล่าสุดอินเดียประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้า หลังชาวสหรัฐป่วยตายจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่อง ตายพุ่งสูงกว่า 15 คน ป่วยโรคปอดอย่างน้อย 805 คน

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวการป่วยและตายจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยอดตายพุ่งสูงกว่า 15 คน ป่วยโรคปอดอย่างน้อย 805 คน โดยประเทศไทยมีมาตรการที่ดีเพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า คือ ห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ในหลายประเทศต่างเริ่มกังวลกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเช่นล่าสุดประเทศอินเดียประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา

“นักวิชาการของอินเดียได้นำเสนอประเด็นข้อเท็จจริงถึงเหตุผลการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าไว้ ที่สามารถตอบคำถามสังคมอินเดียและไทยได้ คือ 1) การที่กลุ่มบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างถึงรายงานของอังกฤษ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2558 ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ 95% ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ไม่มีหลักฐานทางคลินิกและระบาดวิทยา แต่เป็นแบบจำลองกึ่งสมมุติฐานและเป็นเพียงการคาดเดา โดยเป็นแค่ความคิดเห็นของผู้เขียน 12 คน ซึ่ง 1 ใน 3 ประกาศชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ 2) เหตุผลที่ไม่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนบุหรี่ เพราะบุหรี่ไฟฟ้ากำลังช่วยอุตสาหกรรมยาสูบหานักสูบหน้าใหม่เพื่อนำไปสู่การเสพติดนิโคติน ซึ่งการเพิ่มการเสพติดใหม่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของอินเดียแย่ลงเท่านั้น และ 3) อินเดียไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ เพราะ 80% ของผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ยังคงติดนิโคตินเช่นเดิม ซึ่งนิโคตินเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายและอาจก่อมะเร็ง ทั้งนี้ ที่สำคัญประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกาชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสพติด” ศ.นพ.รณชัย กล่าว

ศ.นพ.รณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ ศจย.ได้ส่ง ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายสนับสนุนคงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า’ แก่กระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยเชื่อมั่นว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งเคยได้รับรางวัล ‘World No Tobacco Day Awards’ จากองค์การอนามัยโลก เมื่อปีพ.ศ.2554 ท่านย่อมตระหนักถึงภัยบุหรี่ไฟฟ้า ที่คุกคามสุขภาพของประชาชนไทยแน่นอน

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. 061-7244411 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์