งานวิจัยยืนยัน-บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน-ซ้ำทำให้เลิกบุหรี่มวนยากขึ้น

งานวิจัยยืนยัน-บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน-ซ้ำทำให้เลิกบุหรี่มวนยากขึ้น

งานวิจัยยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน ซ้ำทำให้เลิกบุหรี่มวนยากขึ้น | Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2561 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)

Dr.Stanton Glanz แห่ง Center for Tobacco Control Research and Education สหรัฐอเมริกา สรุปผลงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับการเลิกบุหรี่มวนจากงานวิจัยทั่วโลกรวม 37 งานวิจัย ที่ทำการศึกษาระหว่างปีค.ศ. 2013-2018 ได้ข้อสรุปว่างานวิจัยส่วนใหญ่กว่า 80% (31 จาก 37 งานวิจัย) พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกการสูบบุหรี่มวน นอกจากนี้งานวิจัยกว่า 40% (15 จาก 37 งานวิจัย) ยังสรุปว่านอกจากจะไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังทำให้การเลิกบุหรี่มวนทำได้ยากขึ้น เมื่อนำผลการศึกษาทั้งหมดมาวิเคราะห์สรุปได้ว่าโอกาสของการเลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 25%
ล่าสุดเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2561 งานวิจัยชิ้นใหม่จาก Ohio State University ออกมายืนยันในทำนองเดียวกัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างรวม 705 คน เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับสูบบุหรี่มวน กับกลุ่มที่สูบบุหรี่มวนอย่างเดียว มีการติดตามสัมภาษณ์ทุก 6 เดือนรวมเวลา 18 เดือน ผลวิจัยสรุปประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยลดจำนวนการสูบบุหรี่มวน 2) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยกระตุ้นให้อยากเลิกบุหรี่มวน 3) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกการสูบบุหรี่มวนในระยะยาว และ 4) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกการสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ให้ความเห็นว่า การพิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะ 3 ประเด็นหลักที่มีงานวิจัยรองรับแล้ว คือ 1) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้มีนักสูบหน้าใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน 2) บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีปริมาณนิโคตินที่สูงกว่าบุหรี่มวนและยังมีสารเคมีอื่นๆจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ 3) บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้มีการเลิกบุหรี่มวนได้จริงในระยะยาว

อ้างอิง: https://tobacco.ucsf.edu/another-well-done-longitudinal-study-shows-e-cigs-depress-smoking-cessation
Laura Sweet, et at. (2018). Quitting Behaviors among Dual Cigarette/E-cigarette Users and Cigarette Smokers Enrolled in the Tobacco User Adult Cohort (TUAC). Nicotine & Tobacco Research. Published 20 October 2018. https://doi.org/10.1093/ntr/nty222
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:  หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์