กม.ยาสูบฯ ไม่ห้าม “บ.บุหรี่” ซื้อหุ้น ยสท.และบริษัทลูก เสี่ยงถูกกลืน ขวางออก กม.คุ้มครองสุขภาพคนไทย

กม.ยาสูบฯ ไม่ห้าม “บ.บุหรี่” ซื้อหุ้น ยสท.และบริษัทลูก เสี่ยงถูกกลืน ขวางออก กม.คุ้มครองสุขภาพคนไทย

กม.ยาสูบฯ ไม่ห้าม “บ.บุหรี่” ซื้อหุ้น ยสท.และบริษัทลูก เสี่ยงถูกกลืน ขวางออก กม.คุ้มครองสุขภาพคนไทย | นักกฎหมายเผย พ.ร.บ. การยาสูบฯ เปิดช่องให้ขายหุ้น ยสท. และบริษัทลูกให้ “เอกชน” ได้ ไม่มีข้อห้ามบริษัทบุหรี่เข้าซื้อหุ้น เสี่ยงเสียอธิปไตยการออกกฎหมาย นโยบายคุ้มครองสุขภาพประชาชน จี้ แก้กฎหมายใหม่ ลงทุนกับบริษัทอื่นได้ แต่ห้ามบริษัทเอกชนเข้าถือหุ้นเด็ดขาด

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีกระแสบริษัทบุหรี่ข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นกิจการของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ว่า เดิมโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคล การบริหารต่างๆ ต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เมื่อออก พ.ร.บ. การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 จึงกลายมาเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) แทน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ เองได้ ยกเว้นเรื่องสำคัญที่ต้องขอ ครม. เช่น โครงการลงทุน 1 พันล้านบาทขึ้นไป กู้ยืมเงินคราวละ 100 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด การเข้าร่วมกิจการอื่นหรือการถือหุ้นกิจการของบุคคลอื่น

นายไพศาล กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าตัว ยสท.จะแปลงเป็นหุ้นเพื่อซื้อขายได้หรือไม่ แต่ในส่วนของบริษัทลูกของ ยสท. หาก ครม.เห็นชอบให้มีการตั้งขึ้นมาในอนาคต จะสามารถซื้อขายหุ้นได้ จึงไม่แน่ใจว่าบริษัทบุหรี่ของญี่ปุ่นนั้นที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหมายถึงขั้นตอนใดส่วนใดกันแน่ แต่ที่แน่ชัดคือ กฎหมายฉบับนี้เขียนเอาไว้อ่อนมาก เพราะเปิดช่องเปิดทางให้บริษัทเอกชน ซึ่งอาจเป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ สามารถเข้ามาซื้อหุ้นได้ ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ เลยว่า ห้ามบริษัทบุหรี่เข้ามาถือหุ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการออกกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับยาสูบ เช่น การจะขึ้นภาษีสรรพสามิต ก็อาจทำไม่ได้ เพราะมีข้อเสนอจากบริษัทบุหรี่ที่เข้ามาถือหุ้นว่าไม่ให้ขึ้น หรืออาจแก้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีความอ่อนลง หรือทำให้แก้กฎหมายให้เข้มขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนไม่ได้ เป็นต้น

“การแตกหุ้นของตัว ยสท.หรือของบริษัทลูกนั้น ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ หรือต้องขอ ครม.หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญคือ มีการเปิดทางให้แก่บริษัทเอกชนเข้ามาถือหุ้นได้ ซึ่งหาก ครม.เห็นแก่เรื่องธุรกิจ มีต่างชาติจะมาซื้อด้วยเม็ดเงินมหาศาล ก็จะเกิดการขายไป เปรียบเสมือนการขายสมบัติชาติ ขายรัฐวิสาหกิจให้ต่างชาติไป สุดท้ายก็จะค่อยๆ ถูกกลืนไปหมด เหมือนประเทศฟิลิปปินส์ ที่รัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับยาสูบ ก็ถูกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติกลืนไปหมด โดยเฉพาะหากขาดทุนก็มีโอกาสถูกกลืนง่าย เพราะจำเป็นต้องขายหุ้นออก ซึ่งปัจจุบัน ยสท.เองก็ขาดทุนมาตลอด หลังขึ้นภาษีสรรพสามิต อาจเป็นเพราะปรับตัวไม่ทัน หรือบริหารไม่ดี ทำให้ประสบภาวะขาดทุน” นายไพศาล กล่าว

นายไพศาล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแก้ พ.ร.บ. การยาสูบฯ ใหม่ โดยกำหนดให้ชัดเจนเลยว่า ยสท.และบริษัทลูกที่ตั้งนั้น สามารถเข้าไปร่วมทุนหรือลงทุนกับคนอื่นได้ แต่ห้ามบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะต่างชาติหรือไทยเข้ามาถือหุ้นเด็ดขาดทุกกรณี ต้องเป็นของรัฐ 100% ก็จะแก้ปัญหาได้บริษัทเอกชนหรือบริษัทบุหี่เข้ามายึดครองได้ ซึ่งหากทุกคนเห็นว่ามีข้อเสียเช่นนี้ ก็อาจต้องเสนอรัฐบาลแก้กฎหมายในรัฐบาลหน้า เรพาะรัฐบาลนี้คงไม่ทันแน่นอน

เผยแพร่: 27 ก.ย. 2561 14:40 ปรับปรุง: 27 ก.ย. 2561 20:13 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิมพ์