เดินหน้า ‘คลินิกฟ้าใส’ ช่วยคนไทยเลิกบุหรี่ขยายการบริการสู่ชุมชน

เดินหน้า ‘คลินิกฟ้าใส’ ช่วยคนไทยเลิกบุหรี่ขยายการบริการสู่ชุมชน

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) องครักษ์ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดตั้งคลินิกฟ้าใสว่า จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะให้เกิดเครือข่ายบริการเลิกบุหรี่ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ สามารถลงลึกไปได้ถึงระดับชุมชน และขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ได้จัดตั้งคลินิกฟ้าใสทั้งหมด 5 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่ง 1 ใน 5 แห่ง อยู่ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มศว. และถือเป็นคลินิกฟ้าใสต้นแบบ หลังจากนั้นได้มีการขยายผลจากคลินิกฟ้าใสทั้ง 5 แห่ง ออกไป จนทำให้ขณะนี้มีเครือข่ายคลินิกฟ้าใสกระจายอยู่ทุกจังหวัด รวม 589 แห่ง ทั่วประเทศ จึงเป็นความภาคภูมิใจว่า อย่างน้อยเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถผลักดันให้เกิดคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ได้จริงในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2547 – เดือนมิถุนายน 2563 มีผู้เข้ารับบริการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส จำนวน 88,994 ราย

ทั้งนี้ จากข้อมูลการให้บริการของเครือข่ายคลินิกฟ้าใส รวม 589 แห่ง ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม 2561- มีนาคม 2563 มีผู้รับบริการ ทั้งสิ้น 42,582 คน อัตราเฉลี่ยการเลิกสูบบุรี่ได้ อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 19

ขณะที่การทำงานร่วมกับชุมชน ได้มีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็น Change Agent ในชุมชน และเข้าไปใกล้ชิด พูดคุย ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่มากขึ้น พร้อมชักชวนผู้นำศาสนาในหมู่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในศาสนสถาน รวมไปถึงพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่วัดช่วงที่จัดงานบวช งานแต่ง หรืองานศพ หรือ การห้ามสูบบุหรี่ในมัสยิดทุกวันศุกร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี จนมีชุมชนตัวอย่างในหลายจังหวัด เช่น อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ หรืออำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

การดำเนินงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคลินิกฟ้าใสกว่า 500 แห่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนคนสูบบุหรี่ทั่วประเทศ แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งก็ตาม ดังนั้นเครือข่ายคลินิกฟ้าใสจึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนการบริการให้เลิกสูบบุหรี่ เช่น ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) ในการจัดทำฐานข้อมูลจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยร่วมกัน และจัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยไร้ควัน” เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ที่จะได้รับคำปรึกษาด้วย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ที่ขอรับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่กว่า 150,000 คนต่อปี และมีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 40,000 คน

“คาดหวังว่า การดำเนินงานเหล่านี้ จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความสำคัญมากขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศเชิงนโยบาย และนำประเด็นเรื่องของการเลิกสูบบุหรี่เป็นตัวชี้วัดให้กับกระทรวงต่อไป” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวถึงการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการให้บริการเลิกสูบบุหรี่ว่า ที่ผ่านมาได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นที่ตำราเกี่ยวข้องกับให้บริการเลิกสูบบุหรี่ไม่มีภาษาไทยแม้แต่ฉบับเดียว ต้องนำมาแปลและปรับปรุงแก้ไข สร้างสื่อสารเรียนรู้ที่เป็นภาษาไทย จนนำมาสู่การจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน พร้อมกับนำเอกสารคู่มือต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsmokingcessation.com เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาสามารถดาวน์โหลดได้ความรู้ต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการเรียนการสอน ด้วยการผลักดันหลักสูตรการให้บริการเลิกสูบบุหรี่ ให้เป็นหนึ่งในวิชาที่โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งต้องนำไปสอนให้แก่นิสิตแพทย์ ซึ่งจากการสำรวจในปี 2553 พบว่า โรงเรียนแพทย์กว่าร้อยละ 90 มีวิชาเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เป็นเพียงเนื้อหาที่แฝงตามวิชาต่าง ๆ เท่านั้น ทำให้ในปี 2563-2564 จะเริ่มทำการสำรวจครั้งที่สอง และผลักดันอย่างจริงจัง ให้เกิดเป็นวิชาเรียนที่มีความกระชับ สั้น และง่าย โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งสามารถนำไปปรับเปลี่ยนตามบริบทนำไปใช้เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ได้ต่อไป

นอกจากการขับเคลื่อนงานด้านการเลิกสูบบุหรี่แล้ว ยังขยายผลไปถึงการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ด้วย เพราะการสูบบุหรี่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น หากต้องการให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีไม่เป็นโรค หรือป้องกันโรคก่อนจะป่วย ก็สามารถปฏิบัติตามหลักการง่าย ๆ 4 ข้อ ภายใต้แคมเปญ “เปลี่ยน ก่อน ป่วย” หรือ Change 4 Health โดยใช้หลัก “ก. ข. ค. ง.” ย่อมาจาก “กินน้อย ขยับบ่อย คลายเหล้า งดบุหรี่” โดยเฉพาะการ “งดบุหรี่” ก็มีหลักปฏิบัติง่าย ๆ ใน 4 ข้อคือ “เลือกวัน ลั่นวาจา ลาอุปกรณ์ ลงมือ”

ซึ่งไม่ได้ให้แค่เพียงความรู้หรือสร้างความเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติของนิสิตแพทย์ ผู้ที่จะต้องดูแลสุขภาพประชาชนในอนาคตให้เปลี่ยนวิธีคิดของการเรียนใหม่ จากการเป็นคนที่ต้องมารักษาผู้ป่วย เป็นการป้องกันอาการป่วยของประชาชนก่อนเกิดโรค โดยให้นิสิตแพทย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี มีวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง และให้นิสิตแพทย์ได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองว่า จะมีวิธีการสื่อสารหรือพูดคุยอย่างไร โดยจะมีอาจารย์แพทย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาและสอนหลังจากที่สอบปฏิบัติแล้ว
รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้การดูแลสุขภาพของคนไทยจะต้องปรับจากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว มาเป็นป้องกันโรคก่อนป่วย เพราะในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลคนป่วยไปปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งหากปรับมาให้เป็นการดูแลรักษาสุขภาพก่อนป่วยได้ ก็จะช่วยสร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพประเทศไทย และจะมีประโยชน์ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

▶️ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2269946


พิมพ์