บุหรี่ไฟฟ้าตกเหยื่อ ’เด็ก’  เกตเวย์ เสพติดอันตราย

บุหรี่ไฟฟ้าตกเหยื่อ ’เด็ก’ เกตเวย์ เสพติดอันตราย

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 9

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเน้นย้ำกันตลอด แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่เคยหายหน้าจากวงการ แถมพัฒนารูปทรงแปลกตา ไปจนถึงกลิ่นที่หลากหลาย จากเดิมที่เป็นเพียงแท่งธรรมดา  ปัจจุบันทั้งสีสัน-หน้าตา บางครั้งแทบมองไม่ออก โดยเฉพาะรูปการ์ตูนน่ารักสดใส ที่น่าตกใจว่ากำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่น 

มีข้อมูลน่าสนใจจากศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนอายุ 13-15 ปี มีสถิติก้าวกระโดด จากปี 58 ที่พบการสูบร้อยละ 3.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 65

จากสถานการณ์น่าห่วงใยนี้ประกอบกับการจับกุมของกลางที่พบว่าเข้าถึงเยาวชนได้มากขึ้น “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถาม ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เพื่อสะท้อนภาพปัญหา และทิศทางแก้ไข โดยย้อนที่มาบุหรี่ไฟฟ้าว่า เดิมถูกคิดค้นมาเพื่อลดการเกิดมะเร็งปอด โดยจะใช้น้ำยานิโคตินสังเคราะห์และเติมลงไปในเครื่อง และเนื่องจากการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวน เพราะไม่ต้องจุดไฟเพื่อสูบ จึงไม่มีน้ำมันดิน หรือทาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดที่หลายคนกลัว

“การที่ไม่มีน้ำมันดินถือเป็นจุดเด่น จึงถูกบริษัทนำมาโปรโมทว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งในระยะแรกกลุ่มลูกค้าเป็นวัยผู้ใหญ่”

ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีน้ำมันดิน แต่ยังมีสารที่เป็นอันตรายอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะนิโคตินที่เมื่อสูบก็จะเกิดอาการเสพติด ในผู้ใหญ่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ รวมถึงอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้  ส่วนในเด็กจะมีผลเสียมากกว่านั้น เพราะนิโคตินส่งผลต่อสมอง เนื่องจากสมองถูกพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึงอายุ 25ปี หากเด็กได้รับนิโคตินจึงมีผลต่อการพัฒนาในส่วนดังกล่าว และส่งผลให้เด็กมีอาการก้าวร้าวได้

ต่อมายังพบว่าผู้ผลิตพัฒนารูปทรงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่น ทั้งรูปแบบเป็นเครื่องประดับห้อยคอ เป็นอุปกรณ์การเรียน อาทิปากกาไฮไลท์  แฟรชไดร์ฟ  ตุ๊กตา หรือตัวการ์ตูนต่างๆ พร้อมตบแต่งกลิ่น-เติมรส ยิ่งดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงมากขึ้น  จากข้อมูลในปี 64 พบมีการผลิตออกมากว่า 16,000 รสชาติให้เลือก จนกลายเป็น“แฟชั่น”

“เด็กรู้สึกว่ามันเท่ห์ เป็น Must have ของฉันรสนี้ของเธอรสอะไร ยิ่งช่วงนี้ผู้หญิงสูบกันเยอะ มีการจับตลาดกลุ่มผู้หญิง โดยทำออกมาเป็นกลุ่นน้ำหอม กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นอื่นๆ ที่มีเป้าหมายล่อให้สูบ”

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวต่อว่า  เคยมีการตรวจค้นกระเป๋าเด็กประถมแล้วพบว่าเด็กพกบุหรี่ไฟฟ้ามาโรงเรียน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเด็กสูบเข้าไปช่วงแรกเด็กอาจชอบกลิ่นและรส แต่เมื่อใช้ไปซักระยะ เด็กจะเสพติด เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน เรียกว่าเป็น“การตลาดล่าเหยื่อ” ใช้ตัวผลิตภัณฑ์ดึงดูดใจ การซื้อหาก็ง่ายเพราะร้านอยู่ใกล้โรงเรียน รวมถึงการขายในช่องทางออนไลน์ที่เด็กๆเข้าถึงไม่ยากเพราะใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว และการขายในออนไลน์ก็มีลักษณะประเจิดประเจ้อมาก ไล่จับกันไม่ทัน

สำหรับเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะนำไปสู่การสูบบุหรี่จริง และจะเป็นการสูบแบบควบคู่กัน จนสามารถพัฒนาไปสู่การเสพยาเสพติดอื่นๆได้มากกว่าคนที่ไม่สูบ  โดยทฤษฎีเรียกว่าเป็นเกตเวย์(Gateway) เป็นประตูไปสู่สารเสพติดอื่น เป็นเอฟเฟค(Effect)ที่ทำให้สมองพร้อมรับยาเสพติดอื่นง่ายขึ้น 

 

“ปัญหาหนึ่งที่พบในปัจจุบันคือ ครูและผู้ปกครองไม่รู้ว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า ข้อสังเกตเบื้องต้นแนะนำให้ดูสิ่งที่มีลักษณะเป็นหลอดดูด มีกลิ่นหอม เพราะโดยปกติอุปกรณ์การเรียนหรือของเล่นจะไม่มีกลิ่นหอม เหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อน และตรวจสอบดู ”

ศ.พญ.สุวรรณา ยังเผยถึงช่องทางกวาดล้างว่า ไทยมีกฎหมายที่ครอบคลุมและดีอยู่แล้ว เช่น กรมศุลกากรออกกฎหมายห้ามนำเข้า สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)มีกฎหมายห้ามครอบครอง แต่การบังคับใช้อาจยังไม่เข้มงวด ขณะที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครู อาจารย์นอกจากการสอนเรื่องพิษภัย การเป็นตัวอย่างที่ดีก็สำคัญ และเมื่อรู้ว่าเด็กสูบควรพูดคุยด้วยดีเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะแท้จริงการเลิกทำได้แม้จะติดก็ตาม

ทิ้งท้าย ย้ำว่าการให้ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเด็กมีอาการเครียด แต่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย อาจมีส่วนทำให้เด็กหาที่พึ่งอื่นเพื่อคลายเครียดแทน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/3340666

พิมพ์