นวัตกรรมชุมชนเป็นศูนย์กลางกับการควบคุมยาสูบ

นวัตกรรมชุมชนเป็นศูนย์กลางกับการควบคุมยาสูบ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้กล่าวเปิดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “นวัตกรรมชุมชนเป็นศูนย์กลางกับการควบคุมยาสูบ” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2564 ที่ชูคำขวัญว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” ทางศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้ร่วมมือกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภาการสาธารณสุขชุมชน และศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว DigitorThailand

จัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อชูประเด็นการใช้งานวิชาการมาขับเคลื่อนการทำงานภาคปฏิบัติในชุมชน

ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช คณะทำงานวิชาการ ศจย. และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การควบคุมยาสูบ จัดเป็นงานสาธารณสุขที่สำคัญเนื่องจากยาสูบทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตสูงถึง 8 ล้านคนทุกปีจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ คนที่ใช้ยาสูบ 60 % ของผู้ใช้ยาสูบ 1.3 พันล้านคนทั่วโลกต้องการเลิกใช้ยาสูบ แต่มีเพียง 30% เท่านั้น ที่สำเร็จในการเข้าถึงความช่วยเหลือการเลิกใช้ยาสูบ

การใช้ยาสูบยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดสูงขึ้น การวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับยาสูบมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 7 เท่า และผู้ใช้ยาสูบหากมีการติดเชื้อ จะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาสูบ การใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาจึงนับเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบในภาคปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องไปกับกฎบัตรออตตาวาร์ ที่ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ ในเรื่องการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

Credit : http://nuradio.nu.ac.th/?p=5741


พิมพ์