เตือน ! สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงติดโรค โควิด19

เตือน ! สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงติดโรค โควิด19

ศจย. เตือน ! การสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ โควิด19 พร้อมชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 | ประเด็นการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงในระดับโลก เพราะนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะปอด ขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานในประเทศไทย

ก็ได้พยายามศึกษา วิจัย และค้นหาความเป็นไปได้ในเรื่องของทฤษฎีการรักษา การป้องกัน รวมถึงการแพร่ระบาด โดยสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นถึงพิษภัย อันตราย พร้อมกับความเสี่ยงของการสูบบุหรี่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย. ได้เฝ้าระวังเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ขณะที่กำลังเกิดการระบาดช่วงแรกๆ เพราะถือเป็นโรคที่มีผลต่อปอดและระบบทางเดินหายใจโดยตรง ซึ่งก็ได้ให้ข้อมูลต่อสังคมมาโดยตลอดว่า การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนั้นได้เริ่มศึกษาและค้นคว้างานวิจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง การสูบบุหรี่นั้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำลาย หากสูบบุหรี่มวนเดียวกัน ซึ่งถ้าคนใดคนหนึ่งติดไวรัสโควิด 19 ก็จะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ การสูบบุหรี่ บางครั้งทำให้เกิดอาการไอ หรือสำลักควัน ซึ่งก็จะทำให้เกิดการกระจายตัวของ ละอองเสมหะและน้ำลายได้ ที่สำคัญยังทำให้ปอดมีอาการอ่อนแอลงอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาวารสารวิจัย European Respiratory พบว่า การสูบบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เอนไซม์บางชนิดในระบบทางเดินหายใจ ให้จับคู่กับเชื้อไวรัสได้ง่ายมากขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า “ผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่างกายได้เพิ่มจำนวนของจำนวนเอนไซม์ ACE-2 ในเยื่อบุผิวหลอดลมในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โดย เอนไซม์ ACE-2 คือ โปรตีนตัวรับชนิด ACE-2 receptor ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความไวต่อการติดเชื้อ ยิ่งร่างกายมีมากจะส่งผลให้ร่างกายรับเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ง่าย” ทั้งนี้ ผลกระทบของควันบุหรี่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูบบุหรี่เท่านั้น คนที่หายใจรับควันมือสองก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากการได้รับสารดังกล่าวจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและ ลดการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายต่อ COVID-19 เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ โดยสมาคมปอดแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้เน้นย้ำเตือนไปถึงการให้เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ขณะนี้ องค์กรด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นสถาบันแพทย์ครอบครัวแห่งมลรัฐนิวยอร์กและสหภาพนานาชาติต่อต้านวัณโรคและโรคปอด ก็เริ่มมีแนวคิด “ขอให้รัฐบาลห้ามขายบุหรี่ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 กำลังระบาด”

ด้าน ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า ศจย. ได้ร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ในการจัดทำโครงการ “เลิกสูบ ลดเชื้อ เพื่อตัวคุณ และคนที่คุณรัก” เพื่อชักชวนและช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในการเลิกสูบบุหรี่ผ่านระบบออนไลน์ เน้นการส่งต่อความรู้ให้กับผู้ที่ต้องการจะเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และสามารถชักชวนคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวให้เลิกสูบบุหรีได้ โดยจะเสนอข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการจะเลิกบุหรี่ ทั้งการหักดิบควบคู่กับการให้กำลังใจ โทรศัพท์เพื่อขอรับคำปรึกษาจากสายเลิกบุหรี่ 1600 รวมถึงการใช้สิ่งทดแทนสารนิโคติน โดยผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในระบบออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หรือเวปไซต์ของ ศจย. เพื่อกรอกแบบฟอร์มและขอเข้ารับปรึกษาในการเลิกบุหรี่ได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลต่อปอดทำให้ประชาชนต้องการเลิกสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก สสส. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ในการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้างได้ด้วย

ดร.วศิน ทิ้งท้ายว่า ช่วงวิกฤตนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะเลิกบุหรี่ ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า เพราะนอกจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีผลกับปอดโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่าย ที่หลายคนต้องประคับประคองฐานะทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ ก็จะทำให้ต้องเสียเงินกับการรักษาพยาบาลในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวและตัวผู้สูบเอง

Cr : https://www.brighttv.co.th/news/social/covid-19-2


พิมพ์