WHO FCTC ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ

WHO FCTC ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ

วันที่ 8 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ศจย.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “WHO FCTC ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมว่า “เนื่องด้วยเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และจากคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ที่ว่า “ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบและป้องกันพวกเขาจากยาสูบและการใช้นิโคติน” ทาง ศจย.จึงจัดงานเสวนาวิชาการนี้ขึ้น เพื่อระดมนักวิชาการมาร่วมวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรการราคาและภาษีเป็นเครื่องมือสําคัญในการลดการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกชี้แนะมาตรการนี้เพื่อให้ยาสูบมีราคาสูงขึ้น แต่กระทรวงการคลังกลับทําให้ บุหรี่หลายยี่ห้อมีราคาลดลง เด็กจึงเข้าถึงง่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจตําราเศรษฐศาสตร์บอกชัดว่า รัฐต้องควบคุมสินค้านี้โดยไม่ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด การที่กรมสรรพสามิตปล่อยให้บุหรี่ลดราคากว่า 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงทําร้ายเด็กเท่านั้น แต่ยังทําร้ายสังคมไทยอย่างมหันต์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน

POSTER

คุณไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบคือ ทำให้การควบคุมการยาสูบของรัฐอ่อนแอ เพื่อสร้างผลกำไรจากผู้บริโภคยาสูบที่เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งประเทศไทยยังมิได้ปฏิบัติตามพันธกรณีตาม FCTC มาตรา 5.3 อย่างครอบคลุมและครบถ้วนทุกด้าน ปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดทำระเบียบที่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา ข้าราชการกรมสรรพสามิต พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มิได้ห้ามกิจกรรม CSR โดยมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น การบริจาค หรือการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง แต่จะต้องไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังพบการฝ่าฝืนอยู่ ในอนาคตควรมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อห้ามการให้เงินอุปถัมภ์หรือกิจกรรม CSR ของธุรกิจยาสูบในทุกกรณี

ทพ.ญ.วิกุล วิสาลเสสถ์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ กล่าวว่า จากเอกสารลับของอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติ พบว่าเยาวชนเป็นเป้าหมายทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยมุ่งเป้าที่เด็กอายุ 14 ปี เพราะยิ่งติดเมื่ออายุยังน้อยจะส่งผลให้กลายเป็นนักสูบที่ไม่สามารถเลิกได้ในระยะยาว ซึ่งงานวิจัยของ บริษัทบุหรี่จะใช้การชูรสในบุหรี่มาล่อลวงเยาวชน อย่างเช่น เมนทอล เชื่อมโยงกับอัตราการเริ่มใช้ยาสูบที่สูงขึ้น ความรู้สึกเย็นช่วยปกปิดความรุนแรงของควัน และรสชาติยาสูบ ผู้ใช้สูดดมเข้าไปลึกขึ้น การวิจัยชี้ว่าบุหรี่เมนทอลอาจเพิ่มการเสพติด ทำให้เลิกยากกว่า, เกิดปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า

รองศาสตราจารย์ นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทำให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมของสหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและสารชูรสที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม มีการสำรวจพบว่าเยาวชน 97% จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ ซึ่งในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารเคมีถึง 60 ชนิด การสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลให้เยาวชนหันมาสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 4 เท่า ประเทศภาคีสมาชิกของ WHO-FCTC จำเป็นต้องควบคุมการปฏิบัติตามพันธะสัญญาตามมาตรา 16 ในการป้องกันไม่ให้มีการขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชนอย่างเข้มงวด ซึ่งสำหรับประเทศไทย การคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขายและห้ามบริการจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่ามาตรการราคาและภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกชี้แนะมาตรการนี้เพื่อให้ยาสูบมีราคาสูงขึ้น แต่กระทรวงการคลังกลับทำให้บุหรี่หลายยี่ห้อมีราคาลดลง “ราคาบุหรี่ที่ลดลงทำให้มีการนำเข้าบุหรี่มากขึ้นและแย่งส่วนแบ่งการตลาดของบุรี่ในประเทศ จึงส่งผลต่อชาวไร่ยาสูบด้วย” และส่งผลให้จัดเก็บภาษีได้ลดลงด้วย อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในปี พ.ศ. 2560 เด็กจึงเข้าถึงง่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจตำราเศรษฐศาสตร์บอกชัดว่ารัฐต้องควบคุมสินค้านี้โดยไม่ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด การที่กรมสรรพสามิตปล่อยให้บุหรี่ลดราคากว่า 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงทำร้ายเด็กเท่านั้น แต่ยังทำร้ายสังคมไทยอย่างมหันต์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน


พิมพ์