ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

บุหรี่อิเล็กโทรนิกส์มีการกล่าวอ้างในการช่วยเลิกบุหรี่ แต่ยังไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่รับรองประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีสารนิโคตินสูงถึง 4-24 มิลลิกรัม สูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 10 เท่าในขณะที่บุหรี่ธรรมดามีสารนิโคตินเพียง 1.2 มิลลิกรัม ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงส่งผลต่อความดันโลหิต

ผู้ผลิตบางรายแต่งรสและกลิ่นผลไม้หรือสมุนไพร ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ได้ แม้จะมีการห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว แต่มีขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย จึงควรมีการควบคุมห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและห้ามลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางอื่นๆ

บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) มีวิธีการสูบมีลักษณะเช่นเดียว กับบุหรี่โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นแท่งยาวกว่าบุหรี่ธรรมดาเล็กน้อย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกสำหรับบรรจุแบตเตอรี่เพื่อทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วทำงานแทนการจุดไฟ ส่วนที่สองคือส่วนที่ทำให้เกิดอะตอมเพื่อทำให้สารเกิดการแตกตัวด้วยความร้อน และส่วนที่สามคือแท่งหลอดบรรจุ ใช้สำหรับบรรจุขวดของเหลวขนาดเล็ก (cartridge) และสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลอยู่ในสถานะของเหลวที่จะทำให้เกิดเป็นละอองหมอกมองดูคล้ายควันบุหรี่เวลาสูบดังภาพที่ 1 แท่งหลอดบรรจุนี้สามารถถอดเปลี่ยนได้โดยสามารถเลือกความเข้มข้นของนิโคตินได้และต่ออยู่กับส่วนที่ใช้สูบที่มีลักษณะแบน (mouthpiece) และบริเวณปลายมวนจะมีไฟสีแดงแสดงขณะสูบ1 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กโทรนิกส์ในรูปลักษณ์ใหม่ดังภาพที่ 2

โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล
28 พฤษภาคม 2560


พิมพ์