ศจย. ชื่นชม ทอท. ที่ได้ดำเนินการให้ 6 ท่าอากาศยานในประเทศไทยปลอดบุหรี่

ศจย. ชื่นชม ทอท. ที่ได้ดำเนินการให้ 6 ท่าอากาศยานในประเทศไทยปลอดบุหรี่

ศจย. ชื่นชม ทอท. ที่ได้ดำเนินการให้ 6 ท่าอากาศยานในประเทศไทยปลอดบุหรี่ สามารถคุ้มครองสุขภาพจากผลกระทบควันบุหรี่มือสองของประชาชนไทยและชาวต่างชาติ | วันนี้ 3 เม.ย. 2562 ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้มีจดหมายแสดงความชื่นชม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

ที่ได้ดำเนินการให้ 6 ท่าอากาศยานในประเทศไทย เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ประกอบไปด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยเป็นการปฏิบัติมาตรการปกป้องบุคคลจากการสูดดมควันยาสูบ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากควันบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

ศ.นพ.รณชัย กล่าวถึง รายงานผลการวิจัยการตรวจวัดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในห้องสูบบุหรี่ที่สนามบิน ปีพ.ศ.2555 ของศูนย์กรมควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สนามบินที่ยังไม่ประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 188.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเป็น 23 เท่าของค่าเฉลี่ยที่วัดได้ในสนามบินปลอดบุหรี่ และบริเวณนอกห้องสูบบุหรี่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 43.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสูงเป็น 5 เท่าของค่าเฉลี่ยที่วัดได้ในสนามบินปลอดบุหรี่ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไม่สามารถป้องการกระจายของควันพิษจากบุหรี่ได้ โดยสอดคล้องกับข้อสรุปของสมาคมวิศวกรรมการปรับอากาศของสหรัฐอเมริกา ที่เสนอว่า วิธีการเดียวที่จะจำกัดความเสี่ยงต่อควันบุหรี่มือสองได้ดีที่สุดคือการห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร และในประเทศไทย ศจย.ได้มีรายงานการศึกษาวัดควันบุหรี่มือสองที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในปีพ.ศ.2556 พบว่า ห้องสูบบุหรี่มีฝุ่นพิษ PM 2.5 ปริมาณ 773.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า ในขณะที่องค์การอนามัยโลกเสนอว่า ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ใน 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“ดังนั้น การที่ ทอท. ดำเนินการเรื่องเขตปลอดบุหรี่ในท่าอากาศยานไทยดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบควันบุหรี่มือสอง ซึ่งส่งผลดีต่อประชาชนในประเทศไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทย” ศ.นพ.รณชัย กล่าว

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2562 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร. 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์