แพทย์ย้ำ FDA ยังไม่อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ ห่วงเรื่องความปลอดภัยหลังพบผู้ใช้เพื่อเลิกบุหรี่กลายเป็นติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน

แพทย์ย้ำ FDA ยังไม่อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ ห่วงเรื่องความปลอดภัยหลังพบผู้ใช้เพื่อเลิกบุหรี่กลายเป็นติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) | ข่าวเผยแพร่: วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)

จากที่มีการเผยแพร่งานวิจัยล่าสุดจากทีมวิจัยจากประเทศอังกฤษที่ทำการทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่เปรียบเทียบกับการรักษาโดยใช้สารนิโคตินทดแทน (nicotine-replacement therapy) ในกลุ่มตัวอย่าง 886 คน โดยสรุปผลการศึกษาว่าเมื่อติดตามไป 1 ปีกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเลิกบุหรี่ได้ 18% ในขณะที่กลุ่มใช้นิโคตินทดแทนเลิกบุหรี่ได้เพียง 9%

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง หากได้ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้อย่างละเอียดจะพบว่า ผลวิจัยที่สำคัญอีกอันที่ได้จากการศึกษานี้คือ เมื่อติดตามไปครบ 1 ปีในกลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 80% ยังไม่สามารถหยุดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาแต่ไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้นิโคตินทดแทนพบมีเพียง 9% ที่ยังต้องใช้นิโคตินทดแทนอยู่ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้อยู่หลายประการที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น กลุ่มตัวอย่างในการทดลองจะได้รับการติดตามต่อเนื่องจากแพทย์และได้รับการให้ความรู้และพฤติกรรมบำบัดในการช่วยเลิกบุหรี่ร่วมด้วยซึ่งตรงนี้เป็นภาวะที่ต่างจากชีวิตจริงที่ส่วนใหญ่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่ได้อยู่ในความควบคุมของแพทย์ และการทดลองอาจจะมีอคติจากแพทย์ผู้ให้การบำบัดและผู้ถูกทดลองที่ทราบผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้อยู่ ซึ่งต่างจากการทดลองแบบสุ่มที่ปกติผู้ที่อยู่ในการทดลองจะไม่ทราบผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้ (double-blind)

Dr. Belinda Borrelli และ Dr. George T O’Connor จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาครั้งนี้ว่า จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้าด้วย รวมทั้งระยะเวลาที่แน่นอนที่บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยเลิกบุหรี่ได้โดยผู้สูบไม่กลับไปติดบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ถูกอนุมัติโดย FDA ให้เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ โดยให้คำแนะนำว่าหากผู้ที่สูบบุหรี่ต้องการเลิกบุหรี่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ที่ทาง FDA อนุมัติแล้วร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด หากจำเป็นต้องมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ว่ากรณีใดๆควรปรึกษาแพทย์และต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

อ้างอิง:

  • Peter Hajek, et.al. (2019). A Randomized Trial of E-cigarettes versus Nicotine-Replacement Therapy. The New England Journal of Medicine.
  • Belinda Borrelli & George T. O’Connor (2019). E-Cigarettes to Assist with Smoking Cessation. The New England Journal of Medicine. 
  • รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


พิมพ์