งดร่วมดื่ม ร่วมเสพ "เหล้า-บุหรี่" ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

งดร่วมดื่ม ร่วมเสพ "เหล้า-บุหรี่" ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

หลังจากที่ WHO ได้ประกาศให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้มีประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เพื่อเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30 ราย

รวมผู้ติดเชื้อสะสม 177 ราย กลับบ้าน 41 ราย อยู่โรงพยาบาล 135 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม จำนวน 11 คน โดยประวัติมีพฤติกรรมดื่มสุราแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของผู้ติดเชื้อ สิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มความตระหนัก รับรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไม่ให้ขยายในวงกว้างมากขึ้น

แบ่งเสพ แบ่งสูบ เสี่ยงติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การสูบบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงปอดติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบ ได้แก่ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย 2-4 เท่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า เชื้อวัณโรคมากกว่า 2 เท่า เพิ่มอัตราการเสียชีวิต 4 เท่า และเชื้อโควิด -19 ถึง 14 เท่า

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวภายในงานเสวนา “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยงโควิด-19” ว่า วารสารการแพทย์จีน (Chinese Medical Journal 28 กุมภาพันธ์ 2563) ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าไม่สูบ โดยโควิด -19 ที่เกิดปอดอักเสบ เมื่อแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการดีขึ้น กับกลุ่มที่มีอาการทรุดลง (รวมถึงตาย) พบว่า ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทรุดลงและถึงแก่ความตาย มีสัดส่วนเป็นผู้สูบบุหรี่ ต่อ ผู้ไม่สูบบุหรี่ คิดเป็น 14 : 1 ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นความเสี่ยงสูงสุด ที่สัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบรุนแรงรวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด 19

ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการตายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 68 ราย มีผู้ป่วย 2,807 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention) นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ 1 ซอง (20 มวน) จะทำให้ชีวิตของผู้สูบบุหรี่สั้นลงประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที หรือสูบบุหรี่ 1 มวน ทำให้ชีวิตสั้นลงไป 7 นาที

ดร.วศิน กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เราภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพราะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อนอกจากผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มที่เป็นโรคปอด หัวใจ ความดัน เบาหวาน บุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคพวกนี้ และโรคพวกนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้น ประเด็นเรื่องพฤติกรรมก็สำคัญ เห็นได้จากกรณี ผู้ติดเชื้อ 11 ราย ที่ติดเชื้อจากการสูบบุหรี่ดื่มสุราร่วมกัน

“การแพร่กระจายของเชื้อ เกิดจากน้ำลายหรือเสมหะ ดังนั้น การแบ่งกันเสพบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่ผ่านมาในช่วงปี 2555 ไวรัสเมอร์ส เคยระบาดในตะวันออกกลาง สาเหตุหนึ่งมาจากการสูบบารากู่โดยใช้สายสูบร่วมกัน ต่อมา ในปี 2563 โควิด -19 ระบาด อิหร่าน คูเวต ปากีสถาน กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย สั่งห้ามบริการบารากู่ ทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีคนติดเชื้อ 11 ราย เหตุร่วมสังสรรค์กับผู้ป่วยฮ่องกง กินเหล้าแก้วเดียวกัน และสูบบุหรี่แก้วเดียวกัน” ดร.วศิน กล่าว

เลี่ยงสังสรรค์ในสถานที่ปิด

นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแอลกอฮอล์ ที่ดื่มส่วนมากจะไปกำจัดที่ตับ ซึ่งตับมีหน้าที่สร้างเอนไซน์ และสร้างโปรตีน ที่มีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ตับลดฟังก์ชั่นการกำจัดเชื้อลง การดื่มสุรา เวลาอยู่ในวงส่วนใหญ่จะคุยกันสนุกสนานเฮฮา พฤติกรรมจับแก้ว บรรยากาศก็เป็นที่อโคจร อับ ระบายอากาศไม่ดี ทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง การชงเหล้า คนนั้นจับแก้วที คนนี้จับแก้วที ทำให้เกิดการติดกันไปมาได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุราที่ผับ หรือไม่ได้ไปที่ผับ ก็มีโอกาสที่จะติดกันได้อยู่แล้ว บวกกับบรรยากาศที่เอื้อต่อการติดเชื้อเนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ

ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ช่วยฆ่าเชื้อ นพ.นิพนธ์ อธิบายต่อไปว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ต้อง 70% ขึ้นไป เพราะตัวแอลกอฮอล์เป็นตัวฆ่าโปรตีน แต่ต้องรอให้ระเหยก่อน ไม่ได้ฆ่าทันที ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้เซลล์ปกติก็ถูกทำลาย เป็นพิษในร่ากาย ทำให้ตับทำงานมากขึ้น มีพิษต่อไวรัส ก็มีพิษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน กลายเป็นนอกจากไม่ฆ่าเชื้อยังเป็นพิษสะสมในร่างกายอีก

“สิ่งที่ต้องทำคือให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้แต่ละคนวินิจฉัยเองว่าต้องทำอย่างไร เพราะแต่ละคนไม่มีใครไปยกแก้วแทนใคร แต่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ปัจจัยเสี่ยงเรื่องนี้จำเป็นต้องป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยง เพราะปอด และตับก็เป็นอวัยวะสำคัญต่อร่างกาย ถ้ารู้ว่ามันมีปัจจัยเสี่ยง ทำไมต้องเอาสารพิษเข้าไปเพื่อเพิ่มปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น อยู่ที่เราเลือก” นพ.นิพนธ์ กล่าว

Cr : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871218


พิมพ์